วันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การสร้างพระสมเด็จของหลวงปู่นาคจากบันทึกความจำของลูกศิษย์


การสร้างพระสมเด็จของหลวงปู่นาคจากบันทึกความจำของลูกศิษย์
จากหนังสือ  ศิษย์สมเด็จ

            หลวงปู่นาคท่านเป็นพระมหาเถระผู้ใหญ่ อยู่ในวัยแปดสิบเศษ รูปร่างอ้วนท้วน หน้าตาเปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณา และมีศีลจริยาวัตรงดงาม ประพฤติธรรมอยู่เป็นเนืองนิจ มีอิทธิจิตในระดับที่สูง ดังนั้นจึงเป็นที่เชื่อถือกันอย่างกว้างขวางว่าหลวงปู่นาคทรงความศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นพระสมเด็จที่ปลุกเสกโดยหลวงปู่นาคจึงเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย
            ท่านเจ้าคุณใหญ่หรือหลวงปู่นาคท่านทำพระสมเด็จอยู่เสมอตามความจำเป็นและความต้องการของญาติโยม แต่เป็นการทำไปเรื่อย ๆ ตามแต่สะดวกและความพร้อมของผู้ทำคือบรรดาเด็กวัดและพระเณรในคณะหนึ่ง ไม่ได้จัดตั้งเป็นการพิธีใหญ่และทำพระเป็นจำนวนมาก ๆ เพื่อจำหน่ายเป็นพุทธพาณิชย์ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
            วันไหนมีการทำพระสมเด็จ ท่านเจ้าคุณใหญ่หรือพระเถระชั้นผู้ใหญ่ประจำกุฏิใหญ่ก็จะผสมผงมาแล้วเสร็จ ใส่ในกาละมังบ้าง ในถังบ้าง และให้บรรดาพระเณรรวมทั้งเด็กวัดช่วยกันพิมพ์พระที่บริเวณชั้นล่างด้านหน้าของกุฏิใหญ่
            การทำพระสมเด็จของหลวงปู่นาคจะใช้ผงปูนปลาสเตอร์เป็นพื้น ผสมกับผงพระเก่าที่เหลือจากการทำรุ่นก่อน ๆ สืบทอดกันมา เหมือนกับน้ำมนต์ในวิหารสมเด็จที่ใช้น้ำใหม่เติมน้ำมนต์ในโอ่งที่ทำมาตั้งแต่ครั้งเจ้าประคุณสมเด็จ
            นอกจากนี้ยังใช้ผงธูปจากกระถางธูปในโบสถ์ ผงตะไคร่น้ำจากพระปรางค์และพระเจดีย์ในวัดระฆัง แม้กระทั่งดอกไม้สำหรับบูชาพระประธานในโบสถ์มาตากแห้งแล้วบดเป็นผง และใช้ข้าวก้นบาตรรวมทั้งกล้วยซึ่งบดทั้งเปลือกเป็นส่วนผสมด้วย
            เมื่อผสมผงได้ที่ตามตำรับเก่าแก่ของวัดระฆังแล้ว ก็จะพิมพ์ลงในแบบพิมพ์พระซึ่งแกะสลักในแผ่นไม้ บางแผ่นก็มีพิมพ์พระหนึ่งองค์ บางแผ่นก็สอง หรือสาม หรือห้าองค์ ตามแบบต่าง ๆ ที่วัดระฆังเคยทำมา และทรงอันเป็นที่นิยมมากก็คือแบบพิมพ์ทรงพระประธานทรงใหญ่
            ในบรรดาเด็กวัดที่ช่วยกันทำพระสมเด็จนั้นก็มีโอฬารหัวหน้าเด็กวัดคณะหนึ่งเป็นเจ้ากี้เจ้าการควบคุมเด็กวัด แต่ก็ยังมีพระผู้ใหญ่คอยควบคุมดูแลอยู่อีกชั้นหนึ่ง
            พระที่พิมพ์ก็จะเป็นพระสมเด็จซึ่งเรียกกันว่าพระสมเด็จวัดระฆังรุ่นหลวงปู่นาค มีทั้งทรงพิมพ์ใหญ่ ทรงเจดีย์ ทรงปรกโพธิ์ และอีกหลายแบบสุดแท้แต่แม่พิมพ์ที่พระผู้ควบคุมการจัดทำจะจัดมาให้ทำ
            วันไหนพิมพ์พระได้เท่าใดก็จะมีการนับจำนวนทวนสอบจนตรงกัน แล้วพระเถระผู้ควบคุมการทำพระก็จะยกเอาถาดใส่พระซึ่งพิมพ์เสร็จแล้วขึ้นไปข้างบน เพราะหลังจากนั้นก็จะเป็นขั้นตอนการปลุกเสกตามแบบฉบับและกรรมวิธีของวัดระฆังที่สืบทอดมาตั้งแต่ครั้งเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี
            พระสมเด็จเหล่านั้นจะถูกนำไปบรรจุกล่องและวางไว้ในห้องพระของท่านเจ้าคุณใหญ่ซึ่งเป็นห้องโถงอยู่ชั้นบนของกุฏิใหญ่นั้น จากนั้นก็จะมีการวนสายสิญจน์จากพระประธานของห้องพระ วนลงมาเวียนรัดรอบกล่องพระนั้นจนครบถ้วนทุกกล่อง
            ทุกวันหลังจากหลวงปู่นาคท่านสวดมนต์ไหว้พระแล้ว ท่านก็จะเข้าสมาธิภาวนาพระคาถาชินบัญชร แล้วเพ่งพลังจิตและอธิษฐานจิตตามกรรมวิธีปลุกเสกพระสมเด็จวัดระฆัง และจะเพิ่มเวลาทำสมาธิภาวนาแผ่พลังจิตมากขึ้นสำหรับวันพระและถ้าเป็นห้วงเวลาในเทศกาลเข้าพรรษาก็ยิ่งเพิ่มเวลามากขึ้นไปอีก
            บางครั้งหลวงปู่นาคก็จะให้นิมนต์พระสงฆ์ในคณะหนึ่งมาสวดพระปริตรและสวดพระคาถาชินบัญชรปลุกเสกพระด้วย และบางทีในวันพระใหญ่คือวันขึ้น 15 ค่ำและวันมหาปาวารนา หลวงปู่นาคก็จะให้พระขนกล่องพระสมเด็จเข้าไปในโบสถ์ วนสายสิญจน์มาจากพระประธานมายังกล่องพระ
            ในบางทีเมื่อมีงานบวชหลวงปู่นาคก็จะให้ขนกล่องพระเข้าไปในโบสถ์ด้วย นัยว่าการสวดญัตติจตุตถกรรมนั้นในอุปสมบทพิธีนั้นมีผลมากต่อการปลุกเสกพระเครื่องให้เป็นพระ.
            พระสมเด็จวัดระฆังรุ่นหลวงปู่นาคทรงความศักดิ์สิทธิ์และมีอิทธิปาฏิหาริย์เลื่องชื่อลือกระฉ่อนมาตั้งแต่ครั้งที่หลวงปู่นาคยังมีชีวิตอยู่ และเมื่อท่านเจ้าคุณสิ้นบุญไปแล้วพระสมเด็จวัดระฆังรุ่นหลวงปู่นาคก็ยิ่งมากค่าและหาได้ยากขึ้นทุกที
         พระสมเด็จแท้ที่หลวงปู่นาคทำนั้นเป็นการทำเพื่อหาเงินมาบูรณะพัฒนาวัดระฆังซึ่งเสื่อมทรุดต่อเนื่องมาแต่อดีต ศาสนสถานทั้งหลายภายในวัดทรุดโทรมอย่างเห็นได้ชัด จะมัวรอเงินจากผ้าป่ากฐินศาสนสถานก็คงพังพินาศหมดสิ้น เพราะเหตุนี้หลวงปู่นาคท่านจึงคิดอ่านทำพระสมเด็จขึ้นเป็นอภินันทนาการแก่ผู้ที่มาทำบุญกับวัด
            พระที่หลวงปู่นาคปลุกเสกเสร็จแล้วได้มอบไว้แก่พระลูกศิษย์ซึ่งจะทำบัญชีจำหน่ายสำหรับผู้ใจบุญที่มาทำบุญกับวัด โดยหลวงปู่นาคมิได้จับต้องถือเงินหรือเก็บเงินไว้ด้วยองค์ท่านเองเลย
            ผงที่เหลือจากการทำพระแต่ละคราวก็จะเก็บใส่กะละมังไว้ แล้วขนขึ้นไปไว้บนกุฏิหลวงปู่นาค ซึ่งท่านมักจะวางไว้ข้างๆ โต๊ะหมู่บูชา
            พระที่ผ่านการทำและผ่านการปลุกเสกดังกล่าวนี้หากถึงคราววันมหาปวารณาช่วงเข้าพรรษาหลวงปู่ก็มักจะให้พระลูกศิษย์นำไปไว้ในโบสถ์ วางไว้หน้าพระประธาน โดยมีการนับจำนวนอย่างเข้มงวด ครั้นพ้นวันมหาปวารณาแล้วหลวงปู่นาคก็ให้นำพระเหล่านั้นกลับไปเก็บไว้ที่กุฏิของท่านดังเก่า ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะหลวงปู่นาคท่านรู้กรรมวิธีว่าวันเวลาและการใดที่จะอาศัยพลังแห่งความบริสุทธิ์และพลังอำนาจจิตของคณะสงฆ์เข้าเสริมพลังจิตที่ท่านเจ้าคุณได้ปลุกเสกไว้แต่เดิม
            พระสมเด็จวัดระฆังที่ผ่านกระบวนการจัดทำและกระบวนการปลุกเสกตามตำรับที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งยุคสมัยเจ้าประคุณสมเด็จนั้นจึงเป็นที่หวังและเป็นที่วางใจกันโดยทั่วไปว่าทรงไว้ซึ่งพุทธคุณ มีความศักดิ์สิทธิ์ สามารถปกป้องคุ้มครองภยันตรายทั้งปวงได้ และเป็นเครื่องส่งเสริมความเป็นสิริมงคลให้แก่ผู้มีความศรัทธาตลอดมา